วัดเจดีย์หลวง
- Admin
- Oct 25, 2017
- 2 min read
วัดเจดีย์หลวง

ประวัติศาสตร์และประวัติความเป็นมา
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงในจังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ ราชกุฏาคาร หรือวัดโชติการาม สร้างขึ้นในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ. 1928 - 1945 และมีการบูรณะมาหลายสมัย โดยเฉพาะพระเจดีย์ ที่ปัจจุบันมีขนาดความกว้างด้านละ 60 เมตร เป็นองค์พระเจดีย์ที่มีความสำคัญอีกองค์หนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ วัดเจดีย์หลวงสร้างอยู่กลางใจเมืองเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของอาณาจักรล้านนา ตั้งอยู่เลขที่ 103 ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ภายในวัดประมาณ 32 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา
คำว่า "หลวง" ในภาษาเหนือหรือคำเมือง แปลว่า ใหญ่ วัดเจดีย์หลวง ก็หมายถึงวัดที่มีเจดีย์ใหญ่นั่นเอง เห็นได้จากเจดีย์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่โดดเด่นงดงาม กินพื้นที่กว้างขวางเกือบครึ่งหนึ่งของวัด
วัดเจดีย์หลวงเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของเชียงใหม่ สร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 น่าเสียดายที่ยอดของเจดีย์ถูกทำลายหักลงเนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพุทธศตวรรษที่ 16 หลังจากนั้นก็ถูกทิ้งให้รกร้างเป็นเวลาหลายร้อยปี จนได้รับการบูรณะอีกครั้งในศตวรรษที่ 20
ประวัติ
จุลศักราช 289 (พ.ศ. 1874) พระเจ้าแสนภู โปรดให้สร้างเมืองเชียงแสน และต่อมาอีก 4 ปีทรงสร้างมหาวิหารขึ้นในท่ามกลางเมืองเชียงแสน คือวัดเจดีย์หลวงองค์ที่ 1 ซึ่งอยู่ในวัดพระเจ้าตนหลวง เมืองเชียงแสน สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ากือนา ขณะที่มีพระชนม์มายุ 39 ปี พระองค์โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จดีก็สวรรคต พระราชินีผู้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ได้โปรดให้ทำยอดพระธาตุเจดีย์หลวงจนแล้วเสร็จ
ต่อมาพระยาติโลกราชโปรดให้ช่างขยายเจดีย์ให้สูงและกว้างกว่าเดิม แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2024 และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานระหว่าง พ.ศ.2011-2091 นานถึง 80 ปี
ปี พ.ศ. 2055 พระราชา (พระเมืองแก้ว) พร้อมด้วยชาวเมืองทั้งหลาย เอาเงินมาทำกำแพงล้อมพระธาตุเจดีย์หลวง 3 ชั้นได้เงิน 254 กิโลกรัม จากนั้นจึงได้เอาเงินมาแลกเป็นทองคำจำนวน 30 กิโลกรัม แล้วแผ่เป็นแผ่นทึบหุ้มองค์พระธาตุเจดีย์หลวง เมื่อรวมกับทองคำที่หุ้มองค์พระเจดีย์หลวงอยู่เดิม ได้น้ำหนักทองคำถึง 2,382.517 กิโลกรัม
ประมาณ พ.ศ. 2088 สมัยพระนางจิระประภามหาเทวี ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเชียงใหม่ จึงทำให้ยอดพระเจดีย์หลวงหักพังทลายลงมา หลังจากนั้นพระเจดีย์หลวงจึงถูกทิ้งให้ร้างมานานกว่า 400 ปี กระทั่งปี พ.ศ. 2423 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ได้รื้อพระวิหารหลังเก่าและสร้างวิหารหลวงขึ้นใหม่ด้วยไม้ทั้งหลัง
ช่วงปี พ.ศ. 2471-2481 สมัยพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ถือได้ว่าเป็นทศวรรษแห่งการบูรณะครั้งสำคัญของวัดพระเจดีย์หลวง ได้มีการรื้อถอนสิ่งปรักหักพัง แผ้วถางป่าที่ขึ้นปกคุลมโบราณสถานต่างๆ ออก แล้วสร้างเสริมเสนาสนขึ้นใหม่ให้เป็นวัดสมบูรณ์แบบในเวลาต่อมา
พระเจดีย์หลวง ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2533 ใช้งบประมาณในการบูรณะถึง 35 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535
วัดเจดีย์หลวง เป็นพระอารามหลวงแบบโบราณที่แบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆวาสไว้เป็นสัดส่วน คือ มีเขตพุทธาวาส ๑ แห่ง และสังฆวาส 4 แห่ง คือ เขตพุทธาวาส ตั้งอยู่กึ่งกลางสังฆวาสทั้ง 4 แห่ง ที่อยู่โดยรอบทั้ง 4 ทิศ
เขตพุทธาวาส นี้มีศาสนสถานที่สำคัญคือ พระบรมธาตุเจดีย์หลวง พระวิหารหลวง พระพุทธไสยาสน์ และพระเจดีย์เล็กอีก 2 องค์ แต่เดิมนั้นเขตพุทธาวาสมีกำแพงล้อมรอบเป็นเอกเทศ ต่อมาได้มีการรื้อกำแพงออกในราว พ.ศ.2480-2481
เขตสังฆาวาส มี 4 แห่ง ได้แก่
1. สังฆาวาสวัดสุขมิ้น (สุขุมินท์ ก็เรียก) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ ปัจจุบันเป็นโรงเรียนเมตตาศึกษา
2. สังฆาวาสสบฝาง (ป่าฝาง ก็เรียก) ตั้งทางทิศตะวันตกขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ ปัจจุบันเป็นศาลาปฏิบัติธรรม
3. สังฆาวาสหอธรรม ตั้งทางทิศเหนือขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ ปัจจุบันคือคณะหอธรรมของวัดเจดีย์หลวง
4. สังฆาวาสพันเตา คือวัดพันเตาในปัจจุบัน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระบรมธาตุเจดีย์
โบราณวัตถุสถานที่สำคัญภายในบริเวณวัดเจดีย์หลวง
1. พระธาตุเจดีย์หลวง เป็นพระธาตุเก่าแก่ที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1934 สมัยพระเจ้าแสน เมืองมา นับเป็นพระธาตุที่มีความสูงใหญ่ที่สุดในอาณาจักรล้านนา คือ ประมาณ80 เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 60 เมตร ปัจจุบันมีอายุกว่า 600 ปี
2. พระวิหาร พระอุโบสถ พระวิหารหลวง หรือพระวิหารกลาง ปัจจุบันเป็นทั้งพระอุโบสถ ด้วย ตั้งอยู่ห่างพระธาตุเจดีย์หลวงประมาณ 15.84 เมตร ไปทางทิศตะวันออก เป็นสถาปัตยกรรมทรงล้านนาประยุกต์ ส่วนอุโบสถหลังเก่าศิลปะแบบล้านนาดั้งเดิมที่อยู่หลังวัด ด้านตะวันตกขององค์เจดีย์หลวงได้เลิกใช้งานตั้งแต่ปี 2522 เพราะคับแคบเกินไป วิหารที่วัดเจดีย์หลวงนี้หลังแรกซึ่งสร้างครั้งแรกโดยพระนางติโลกจุฑา พระราชมารดาของพระเจ้าสามฝั่งแกนเมื่อปี พ.ศ.1954 พร้อมทั้งได้หล่อพระอัฏฐารสพุทธปฏิมาประธานและพระอัครสาวกโมคคัลลาน์ สารีบุตร ไว้ในพระวิหาร
ต่อมาในปี พ.ศ.2017 พระเจ้าติโลกราชให้รื้อวิหารหลังเก่าแล้วสร้างวิหารหลังใหม่ มีขนาดกว้าง 9 วา ยาว 19 วา ขึ้นแทนมาในปี พ.ศ.2058 พระเมืองแก้วให้รื้อวิหารหลังเก่าแล้วสร้างขึ้นใหม่ในที่เก่าอีก ครั้นถึงสมัยพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ไฟได้ไหม้วิหารเสียหายจึงต้องรื้อแล้วสร้างใหม่ทับที่เดิมอีกครั้ง
ต่อมาในยุคเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 ราชวงศ์ทิพจักร ได้รื้อวิหารหลังเดิม แล้วสร้างวิหารหลังใหม่ขึ้นที่เดิมอีก ซึ่งวิหารในยุคก่อน ๆ นั้นคงสร้างด้วยไม้ จึงมีการสร้างและรื้อถอนกันได้บ่อย ๆ ส่วนวิหารหลังปัจจุบันได้รับการสร้างขึ้นใหม่ในยุคเจ้าแก้วนวรัฐ ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 9 โดยสร้างขึ้นหลังปี พ.ศ.2471
3. พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปปั้นขนาดใหญ่ปางห้ามญาติ สูง 18 ศอก หล่อด้วยทองสำริด มีพระอัครสาวก โมคคัลลาน์ สารีบุตร สร้างโดยพระนางติโลกะจุดา (ติโลกจุฑา) นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ หลายขนาดอีกจำนวนมากประดิษฐานอยู่รายล้อมพระอัฏฐารส
4. พระนอน หรือ พระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่คู่กับพระเจดีย์ แต่ไม่ปรากฏว่า สร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง พระนอนองค์นี้สร้างด้วยอิฐฉาบปูนปิดทอง เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2536 ได้บูรณะใหม่ทาสีทองสำเร็จแทน มีพุทธลักษณ์สวยงามมาก หันเศียรสู่ทิศใต้ พระพักตร์หันเข้าหาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง สูง 1.93 เมตร ยาว 8.70 เมตร อยู่ห่างจากพระเจดีย์หลวงไปทางทิศตะวันตก
5. เจดีย์ขนาดเล็ก เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมแบบเชียงใหม่ มีอยู่ ๒ องค์ ตั้งอยู่กระหนาบ พระวิหารด้านเหนือและด้านใต้ เยื้องไปทางด้านหน้าของวิหารหลวง
6. พระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของเจดีย์หลวงและวิหาร เป็นพระอุโบสถขนาดเล็ก แบบพื้นเมืองเชียงใหม่ ก่ออิฐฉาบปูน
7. เสาอินทขีล เชื่อกันว่าเป็นหลักเมืองเชียงใหม่ เดิมอยู่ที่วัดสะดือเมือง (วัดอินทขีล หรือวัดสะดือเมือง ข้างศาลากลางหลังเก่า) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งหอประชุมติโลกราช พระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 (พ.ศ.2324 - 2358) ในราชวงศ์ทิพจักร โปรดให้ย้ายเสาอินทขีล จากวัดสะดือเมือง มาไว้ ณ วัดเจดีย์หลวง เมื่อ พ.ศ.2343
8. บ่อเปิง เป็นบ่อน้ำใหญ่ ลึก ก่อด้วยอิฐกันดินพังไว้อย่างดี คำว่า "เปิง" แปลว่า คู่ควร-เหมาะสม เป็นบ่อใหญ่สมกับที่ขุดขึ้นมาเพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงซึ่งในสมัยที่พระเจ้าติโลกราช ทรงสร้างเสริม พระธาตุเจดีย์หลวง (พ.ศ.2022 - 2024 นั้น ทั่วทั้งวัดเจดีย์หลวงมีบ่อน้ำถึง 12 บ่อ ต่อมาถูกถมไปเพื่อเอาพื้นที่สร้างถาวรวัตถุ
9. พระมหาสังกัจจายน์ ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังเล็ก อยู่ห่างจากพระธาตุเจดีย์ไปทาง ทิศเหนือ เชื่อว่ามีความเก่าแก่พอ ๆ กับพระนอน ปัจจุบันพระสังกัจจายน์มี 2 องค์ องค์ใหม่อยู่ด้านหน้าวัด ติดกับวัดพันเตา สร้างเมื่อประมาณ 30 กว่าปีมานี้เอง
10. ต้นยางใหญ่ในวัดเจดีย์หลวงมีต้นยางใหญ่ 3 ต้น กล่าวกันว่าอายุกว่า 200 ปี
11. กุมภัณฑ์ มีอยู่ 2ตน สร้างไว้เพื่อให้คอยรักษาเสาอินทขีล ตนหนึ่งอยู่ด้านหน้าวัด
12. หอธรรม เมื่อปี พ.ศ.2017 พระเจ้าติโลกราช ได้ทรงสร้างพระวิหารหลวงขึ้นใหม่ พร้อมทั้งให้สร้างหอธรรม (หอพระไตรปิฏก) ไว้ทางด้านเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์
13. กุฏิแก้วนวรัฐ เป็นกุฏิหลังแรกของวัด สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง
แต่เดิมวัดเจดีย์หลวง ชื่อ “โชติการามวิหาร” แปลว่า พระอารามที่มีแต่ความรุ่งเรืองสว่างไสว เนื่องจากเป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในกาลครั้งหนึ่ง เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ส่งสมณะทูต 8 รูป ภายใต้การนำพระโสณะ และ พระอุตตะระ เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในเขตสุวรรณภูมิ รวมทั้งภูมิภาคนี้ด้วย ได้นำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ในองค์เจดีย์องค์เล็กสูง 3 ศอก ที่สร้างขึ้น ณ บริเวณอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์หลวงในปัจจุบัน
ในเวลานั้นมีมีชายผู้หนึ่ง อายุ 120 ปี มีใจเลื่อมใส ได้แก้เอาผ้าห่มชุบน้ำมันจุดบูชา และได้ทำนายว่า ต่อไปในภายภาคหน้า ตรงนี้จะเป็นอารามใหญ่ชื่อโชติการาม พวกละวะทั้งหลายเอาข้าวของบูชาพระธาตุพระพุทธเจ้า จึงก่อเจดีย์หลังหนึ่งสูง 3 ศอกไว้เป็นที่สักการบูชา
นอกจากนี้ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่งของคำว่า “โชติการาม” คือ เวลาที่มีการจุดประทีปโคมไฟไปประดับบูชาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง จะปรากฏจะปรากฏแสงสีสว่างไสว มองเห็นองค์พระเจดีย์คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วงสว่างไสว ดูแล้วมีความงดงามยิ่งนัก สามารถมองเห็นได้แต่ไกล
ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดเจดีย์หลวง” เนื่องจากในภาษาเหนือ หรือคำเมือง หลวงแปลว่า “ใหญ่”หมายถึง พระธาตุเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่
コメント