top of page

Darla's blog

Search

เชียงใหม่

  • Writer: Admin
    Admin
  • Oct 25, 2017
  • 2 min read

ข้อมูลจังหวัดเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่หรือนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 20,107.057 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของภาคเหนือ และใหญ่เป็นอันดับที่สองของประเทศไทย

ทิศเหนือมีอาณาเขตติดต่อกับสหภาพพม่า, ติดตะวันออกติดกับจังหวัดเชียงราย จังหวัดลำปางและจังหวัดลำพูน, ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดตากและจังหวัดลำพูน, ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจังหวัดเชียงใหม่แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 25 อำเภอ และมีชายแดนติดต่อกับสหภาพพม่า 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่อาย อำเภอฝาง อำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง และอำเภอไชยปราการ

ภูมิประเทศ ของจังหวัดเชียงใหม่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา มีภูเขาล้อมรอบ ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปมีสภาพเป็นภูเขาและป่าละเมาะ มีทิวเขาที่สำคัญได้แก่ ทิวเขาแดนลาวอยู่ทางทิศเหนือ กั้นพรมแดนไทย – พม่า ทิวเขาถนนธงชัย ทิวเขาผีปันน้ำ มียอดเขาที่สำคัญคือ ดอยผ้าห่มปก ดอยหลวง ดอยอ่างขาง ดอยอินทนนท์ ดอยปุย ดอยสุเทพ ดอยขุนตาน ดอยช้าง พื้นที่ป่าไม้โดยทั่วไปของจังหวัดเชียงใหม่จะเป็นป่าไม้เบญจพรรณ ป่าดิบเขา ป่าสน และป่าเต็งรัง โดยจังหวัดเชียงใหม่จะมีแม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำปิง มีความยาว 658 กิโลเมตร ไหลผ่านหุบเขามายังที่ราบลุ่มจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านจังหวัดลำพูน ก่อนลงสู่อ่างเก็บน้ำที่เขื่อนภูมิพลที่จังหวัดตาก

ภูมิอากาศ จังหวัดเชียงใหม่มีสภาพอากาศค่อนข้างเย็นเกือบตลอดปี ได้รับอิทธิพลมรสุม 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งออกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูฝน (เดือนมิถุนายน-ตุลาคม) มีฝนตกชุกโดยเฉพาะบนดอยมีฝนตกเกือบทุกวัน ฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) มีอุณหภูมิต่ำสุดโดยเฉลี่ย 14 องศาเซลเซียส บนยอดเขาอาจมีอุณหภูมิต่ำถึง 4 องศาเซลเซียส และฤดูร้อน (เดือนมีนาคม-พฤษภาคม) อากาศร้อนมากในช่วงกลางวันเพราะเป็นแอ่งกระทะ อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 30 องศาเซลเซียส

กลุ่มชาติพันธุ์และชุมชน จังหวัดเชียงใหม่มีความหลากหลายในด้านภาษาและชาติพันธุ์ หลายกลุ่มตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่เดิมเรียกว่าเรียกว่า คนเมือง บางกลุ่มอพยพมาจาก ลาว พม่า และจีน

โดยสามารถแบ่งกลุ่มตามตระกูลภาษาของชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ได้แก่ ลีซอ กะเหรี่ยง จีนฮ่อ , ตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน ได้แก่ ม้ง เย้า (เมี่ยน) , ตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่า ได้แก่ ลาหู่ มูเซอ อาข่า

ชาติพันธุ์เหล่านี้จะตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในเขตภูเขาในอำเภอต่างๆของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น อำเภอฝาง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว อำเภอสะเมิง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานในเขตเมืองเช่นเดียวกับคนเมืองส่วนใหญ่อยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได ได้แก่ ไทเขิน ไทลื้อ ไทใหญ่(เงี้ยว) ไทยอง

ศิลปวัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่ตั้งเป็นเมืองมากว่า 700 ปี มีผู้คนหลายชาติพันธุ์เข้ามาตั้งถิ่นฐาน มีการแลกเปลี่ยนทางศิลปะทางวัฒนธรรมระหว่างหลายชนชาติตั้งแต่เริ่มก่อตั้งอาณาจักร จึงมีความหลากหลายของมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งอยู่ในรูปของโบราณวัตถุ โบราณสถาน งานศิลปหัตถกรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี

สถาปัตยกรรม จังหวัดเชียงใหม่ มีโบราณสถานที่สวยงามและมีคุณค่าทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์และความสวยงามโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม มีลักษณะของการผสมผสานทางศิลปะจากหลายเชื้อชาติ ส่วนใหญ่เป็นศาสนสถานที่สำคัญที่มีอยู่ทั่วจังหวัดเชียงใหม่ เช่น วิหารลายคำวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ซึ่งมีลวดลายแกะสลักสวยงามปิดทองทั้งหลัง เจดีย์เจ็ดยอด วัดโพธาราม วรมหาวิหารที่ถอดแบบมาจากเจดีย์ทรงปราสาทจากประเทศอินเดีย วิหารจัตุรมุขที่วัดต้นเกว๋น

หัตถกรรม จังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเสียงในด้านงานหัตกรรมมานานเนื่องจากมีผู้คนหลายชาติพันธุ์รวมกันอยู่ และมีการทำงานหัตกกรมเฉพาะกลุ่มแตกต่างกันออกไป ได้แก่ งานไม้แกะสลัก ผ้าทอมือ เครื่องเงิน เครื่องเขิน กระดาษสา ผ้าไหม เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคน

ประเพณีและวัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่มีประเพณีวัฒนธรรมสำคัญที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ งานประเพณียี่เป็งหรือประเพณีลอยกระทง จัดในช่วงงานเทศกาลลอยกระทงโดยมีการปล่อยโคมลอยเพื่อนำเคราะห์ ทุกข์โศกออกไป มีขบวนแห่กระทงประกวดโคม, งานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับจัดในเดือนกุมภาพันธ์ มีการประกวดรถบุปผชาติและนางงามบุปผชาติ, งานประเพณีสงกรานต์หรืองานปี๋ใหม่เมือง ,ประเพณีจุลกฐิน จัดที่วัดยางหลวง อำเภอเม่แจ่ม, ประเพณีเข้าอินทขิล เป็นงานบูชาเสาอินทขิลหรือเสาหลักเมือง, ประเพณีตาลหลัว-หิงไฟพระเจ้า เป็นประเพณีการนำฟืนมาก่อไฟให้ความอบอุ่นแก่องค์พระพุทธรูป จัดในเดือนมกราคมที่วัดยางหลวงหรือวัดป่าแดด อำเภอแม่แจ่ม เท่านั้น, ประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพในวันวิสาขบูชาและงานร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง นอกจากนี้ ยังมีศิลปะการแสดงพื้นเมืองอีกหลายประเภท เช่น การฟ้อนเล็บ การตีกลองสะบัดชัย ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง จ๊อยซอ (จ๊อยซอ คือ การขับร้องเป็นทำนองด้อยถ้อยคำที่สัมผัสคล้องจองกัน โดยมีซอเป็นเครื่อง ดนตรีหลักปูมบ้านปูมเมือง จังหวัดเชียงใหม่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อ 10,000 – 5000 ปีที่แล้ว โดยพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคหินเก่า บริเวณอำเภอต่างๆและพัฒนามาเป็นยุคหินใหม่ ยุคสำริด มาถึงสมัยประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

สมัยประวัติศาสตร์ชนเผ่าลัวะซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองในกลุ่มมอญ เขมร คือชนเผ่าดั้งเดิมของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่วัดเจ็ดลิน บริเวณเชิงดอยสุเทพ โดยระหว่าง พ.ศ.1310 -1311 ขุนหลวงวิลังคะ ผู้นำเผ่าลัวะในเวียงเจ็ดลิน ทำสงครามแพ้พระนางจามเทวี จึงถอยร่นกระจายขึ้นไปอยู่ตามภูเขาสูง

สมัยก่อตั้งอาณาจักร พ.ศ.1835 – 1839 พญามังรายเข้าครอบครองแคว้นหริภุญชัยและผนวกเข้ากับแคว้นโยนก กลายเป็นอาณาจักรล้านนาและสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา ทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง และอิทธิพลรับพุทธศาสนาจากหริภุญชัย โปรดให้สร้างศาสนสถานหลายแห่งจนกระทั่งกลายเป็นเมืองสูญกลางแทนหริภุญชัย เมืองเชียงใหม่จึงถือกำเนิดนับแต่นั้น

สมัยพม่าปกครอง พ.ศ. 2101-2317 ล้านนาเป็นเมืองขึ้นของพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง ในสมัยพญาเมืองแก้วล้านนาเริ่มเสื่อมลง เนื่องจากการเสียกำลังคนจากการพ่ายแพ้สงครามกับเชียงตุง และเกิดอุทกภัย เมืองในปกครองต่างแยกตัวออกเป็นอิสระขุนนางมีอำนาจมากขึ้น เมื่อพม่ายกทัพมาตีเชียงใหม่ อาณาจักล้านนาจึงตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า

สมัยรัตนโกสินทร์

ในสมัย พ.ศ.2317 พระยาจ่าบ้าน และพระยากาวิละ ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และร่วมกับกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่ได้สำเร็จ ล้านนาจึงอยู่ในฐานะเมืองประเทศราชของสยาม ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการแผ่ขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกเข้ามา รัฐบาลได้ปฏิรูปการปกครอง โดยผนวกดินแดนล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยามแต่ยังคงฐานะเป็นเมืองประเทศราช ในพ.ศ.2427-2442มีการผนวกดินแดนล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยามโดยจัดตั้งขึ้นเป็นมณฑลลาวเฉียง หรือมณฑลพายัพ และในปี พ.ศ.2442-2476 กรุงรัตนโกสินทร์มีการยกเลิกฐานะเมืองประเทศราช เชียงใหม่จึงเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักสยามและมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน

ตราประจำจังหวัดเชียงใหม่ เป็นรูปช้างเผือกในเรือนแก้ว ช้างเผือกนั้นหมายถึงช้างที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่นำทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้ขึ้นระวางเป็นช้างเผือกในรัชสมัยของพระองค์ ส่วนเรือนแก้ว หมายถึง ดินแดนที่พระพุทธศาสนาได้มาตั้งมั่นเจริญรุ่งเรือง จนเคยเป็นสถานที่สำหรับทำสังคายนาพระไตรปิฎกเมื่อ พ.ศ.2020

สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ มีมากมายให้เลือกสรรตามความสนใจ เช่น วัดวาอาราม เช่น วัดเชียงมั่น วัดพระสิงห์ วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร วัดเจ็ดยอด วัดต้นเกว๋น วัดเกตการาม วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตุดอยคำเป็นต้น สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น จุดชมวิวดอยกิ่วลม ดอยผ้าห่มปก ดอยม่อนจอง ดอยอ่างขาง ดอยผาตั้ง ดอยหลวงเชียงดาว อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติผาแดง อุทยานแห่งชาติแม่วาง อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ เป็นต้น และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆเช่น น้ำตกผาหม่น น้ำตกแม่ปาน น้ำตกแม่ลาด น้ำตกแม่สา น้ำตกแม่แอบ ปางช้างแม่แตง โป่งน้ำร้อนฝาง ผาสิงห์เหลียว ม่อนแจ่มพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่กล่าวมาข้างต้นนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายในจังหวัดเชียงใหม่ที่รอให้ทุกท่านไปเยี่ยมชม

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้ถ้าจะสรุปง่ายๆ หรือพูดสั้นๆแล้วเห็นถึงจังหวัดเชียงใหม่ จึงต้องขอกล่าวคำขวัญประจำจังหวัดเชียงใหม่ที่ว่า

ดอยสุเทพเป็นศรี

ประเพณีเป็นสง่า

บุปผาชาติล้วนงามตา

นามล้ำค่านครพิงค์

 
 
 

Comments


Featured Posts
Check back soon
Once posts are published, you’ll see them here.
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
bottom of page