top of page

Darla's blog

Search

ดอยอินทนนท์

  • Writer: Admin
    Admin
  • Oct 25, 2017
  • 1 min read

ดอยอินทนนท์เป็นยอดดอยที่มีความสูงที่สุดในประเทศไทยและอยู่บนเทือกเขาถนนธงชัย ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นอุทยานฯ ลำดับที่ 6 ของประเทศไทย ยอดดอยอินทนนท์ อยู่จุดที่แบ่งระหว่างสามอำเภอ คือ อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่มและอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

ดอยอินทนนท์นับเป็นหนึ่งในสี่ภูเขาสูงค้ำฟ้าผืนดินล้านนา ร่วมกับดอยสุเทพ ดอยหลวงเชียงดาวและดอยห่มปก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ ดอยอินทนนท์เป็นหนึ่งในฐานที่อยู่อาศัยของพี่น้องชาวปกาเกอะญอด้วย แต่เดิมบริเวณยอดดอยอินทนนท์มีชื่อว่า "ดอยหลวง" คำว่า ดอยหลวง หมายถึง ภูเขาสูงใหญ่ โดยเป็นหมุดหมายตาสำคัญสำหรับนักสำรวจร่างแผนที่และนักเดินทาง หรือ “ดอยอ่างกา” โดยดอยอ่างกานั้นมีเรื่องเล่ากันว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตกมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ มีฝูงกาจำนวนมากมักพากันลงเล่นน้ำที่หนองแห่งนี้ และมีน้ำขังตลอดปี เป็นที่อาศัยหากินของสัตว์ป่าบริเวณนั้น รวมกับคำว่า หลวง ซึ่งหมายถึงความยิ่งใหญ่ จึงกลายมาเป็นชื่อดอยอ่างกาหลวง

ภูมิอากาศ

อากาศโดยทั่วไปบนยอดดอยอินทนนท์จะมีลักษณะหนาวเย็นตลอดทั้งปี มีความชื้นสูง อุณภูมิสูงสุดประมาณ 22 องศาเซลเซียส อุณภูมิต่ำสุดประมาณ -8 องศาเซลเซียส และอุณภูมิเฉลี่ยประมาณ 12 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า

สังคมพืชในพื้นที่ยอดดอยอินทนนท์โดยสามารถพบป่าเต็งรังแสนแห้งแล้งบริเวณตีนดอยจนถึงป่าดิบเขาที่มากด้วยพรรณไม้ดึกดำบรรพ์ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำค้าง และหมอกได้บนยอดดอยเดียวกัน นอกจากนี้สภาพป่าเป็นลักษณะป่าเมืองหนาว มีพรรณไม้แปลกที่หาดูได้ยาก เช่น กุหลาบพันปี ไม้อบเชย พระยาเสือโคร่งและไม้ตระกูลก่อหลายชนิด พวกมอส มีข้าวตอกฤาษี เฟิร์นออสมันด้า กล้วยไม้มีค่า เช่น รองเท้านารี เป็นต้น

ส่วนในเรื่องของสัตว์ป่า สัตว์ป่ามีจำนวนลดลงไปมาก เนื่องจากถูกชาวเขาเผ่าต่างๆ ล่าเป็นอาหาร และป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยถูกถางลงมาก ทำให้สัตว์ใหญ่บางชนิดหมดไปจากป่านี้ สัตว์ที่เหลืออยู่ส่วนมากเป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กระรอก กระแตธรรมดา อ้นเล็ก เม่นหางพวง ชะมดแผงสันหางดำ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ยังคงความสำคัญในด้านของการเป็นแหล่งของนกป่าที่สำคัญของประเทศไทย

อินทนนท์ในมุมมองของชาวต่างชาติ

- เซอร์โรเบิร์ต เฮอร์แมน ซอมเบิร์ก เป็นกงสุลชาวอังกฤษประจำกรุงเทพมหานคร ในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วงปี พ.ศ.2400 สนใจเรื่องพืชและสัตว์ เก็บตัวอย่างพรรณไม้ ท่านเคยเดินทางมาเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2402-2403 โดยเดินทางด้วยช้าง ข้ามเทือกเขาไปเมืองเมาะละแหม่ง และเคยพักตั้งแคมป์ที่ดอยอินทนนท์

- ไมเคิล แมคมิลแลน วอลซ์ นักสัตววิทยา และนักจิตอาสาชาวแคนาดาประจำอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ที่ทุ่มเททำงาน สำรวจวางแนวและออกแบบเส้นทางเดินไม้เพื่อรักษาสภาพนิเวศในป่าดึกดำบรรพ์ และป้องกันการเหยียบย่ำป่าพรุอ่างกา โดยไมเคิลได้เสียชีวิตที่ดอยอินทนนท์ด้วยโรคหัวใจ

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ (ขึ้นครองนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2416 - พ.ศ. 2440) เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าประเทศราชองค์สุดท้ายที่มีอำนาจอย่างแท้จริง เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 สยามได้ริดรอนอำนาจของเจ้าผู้ครองนครลง

ด้วยความจงรักภักดีที่ทรงถวายต่อพระบรมราชวงศ์จักรี อย่างไม่สั่นคลอน กอปรกับเป็นพระบิดาในเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งนับว่าเป็นการถวายพระเกียรตินับเนื่องเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ในพระบรมราชวงศ์จักรี และเป็นพระเจ้าประเทศราชเพียงพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้รับพระราชทานและยกย่องพระเกียรติยศดังกล่าว

ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และเป็นหลานของพระยาคำฟั่นกับแม่เจ้าเนตรนารีไวยตาเวย ซึ่งเป็นพระราชธิดาในเจ้าฟ้าเมืองยางแดง (เมืองกะเหรี่ยง) ที่มากด้วยทรัพยากร ไม้ขอนสัก และได้รับกรรมสิทธิ์ครอบครองป่าไม้ในแถบ อำเภอขุนยวมทั้งหมด โดยเจ้าอินทวชยานนท์มีความผูกพันและให้ความสำคัญกับป่าไม้มาก โดยเฉพาะผืนป่าดอยหลวงแห่งนี้ ท่านเคยเข้ามาสำรวจและรักป่าผืนนี้พระองค์มีความหวงแหนป่าไม้มาก จึงได้รับสั่งไว้ว่า หากพระองค์ถึงแก่พิราลัยแล้ว ให้นำพระอังคารของพระองค์มาไว้ ณ ยอดดอยหลวงด้วย และเมื่อปี พ.ศ.2440 พระองค์ก็ถึงแก่พิราลัย ราชธิดา คือเจ้าดารารัศมี จึงได้อัญเชิญพระอังคารของพระเจ้าอินทวิชยานนท์มาประดิษฐาน ณ พระสถูปบนยอดดอยหลวง เพื่อเป็นที่สักการบูชาของชาวเขาและประชาชนทั่วไป ดอยหลวง หรือ ดอยอ่างกา จึงได้เปลี่ยนชื่อ เป็น ดอยอินทนนท์ ตั้งแต่นั้นมา

กู่พระเจ้าอินทวิชยานนท์

เมื่อเดือนเมษายน ปีพ.ศ.2458 พระราชชายาเจ้าดารารัศมีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสประทับพักแรมบนยอดดอยอินทนนท์ และโปรดให้สร้างกู่บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ผู้เป็นพระราชบิดาไว้ ณ ที่นี้ โดยกองทัพอากาศได้สร้างเจดีย์องค์เล็กขึ้นไว้ข้างกู่องค์เดิม เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เมื่อ พ.ศ.2518 และในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2529 คณะเจ้านายฝ่ายเหนือ บุตรหลานคณะสงฆ์ คณะทหารอากาศและประชาชนได้เห็นพ้องต้องกันว่า กู่องค์เดิมทรุดโทรม จึงร่วมกันสร้างกู่องค์ใหม่ครอบฐานองค์เดิม ในทุกๆปีชาวอินทนนท์จะรวมตัวกันเพื่อจัดพิธีไหว้เจ้าอินทวิชยานนท์ เพื่อให้ท่านคอยปกปักรักษาสรรพชีวิต

 
 
 

Commentaires


Featured Posts
Check back soon
Once posts are published, you’ll see them here.
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
bottom of page