top of page

Darla's blog

Search

พระมหาธาตุนภเมทินีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ

  • Writer: Admin
    Admin
  • Oct 25, 2017
  • 2 min read

พระมหาธาตุนภเมทินีดล

ความเป็นมา

ในวาระที่กองทัพอากาศ มีอายุครบ 72 ปี ในวันที่ 27 มีนาคม ปีพุทธศักราช 2530 นั้น จวบกับวาระมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน ข้าราชการกองทัพอากาศ โดยพลอากาศเอกประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้เห็นพ้องกันว่า สมควรร่วมใจบริจาคทรัพย์ทำบุญสร้างอนุสสารณียวัตถุขึ้นเป็นที่ระลึก วาระสำคัญของกองทัพอากาศและเฉลิมพระเกียรติน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลในศุภวาระมงคลนี้

การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ของกองทัพอากาศ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล ที่กองทัพอากาศรำลึกว่า สถานที่ซึ่งควรจะประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์นี้ จึงควรสถิตอยู่ ณ จุดที่สูงที่สุดบนแผ่นดินไทยที่กองทัพอากาศสามารถขึ้นไปก่อสร้างได้ เพื่อให้สมกับพระมหากรุณาธิคุณ พระเมตตาธิคุณ และพระมหาบริสุทธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้สถิตอยู่สูงสุด และในดวงใจของปวงพสกนิกรทุกหมู่เหล่า

กองทัพอากาศ จึงพิจารณาเลือกยอดเขาแห่งหนึ่งบนดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นดอยที่มียอดสูงที่สุดของประเทศไทย เป็นสถานที่สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อตามที่กองทัพอากาศขอพระราชทานว่า “พระมหาธาตุนภเมทนีดล” แปลได้ความว่า พระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ยิ่งใหญ่เพียงฟ้าจดดิน

โดยการจะก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กองทัพอากาศจำเป็นจะต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติก่อน จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ขึ้นตามกำหนด วันที่ 5 ธันวาคม 2529 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นั้นนับเป็นมหามงคลสมัยควรจะได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ เวลาฤกษ์ 10.49 นาฬิกา

รูปทรงและส่วนประกอบ

ส่วนองค์พระมหาสถูปเจดีย์มีสัณฐานทรงระฆัง 8 เหลี่ยม มีลวดลายแบ่งออกให้เห็นเป็น 3 ช่วง แทนพระบารมี 3 ขั้นตอนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญ อันประกอบด้วย บารมีขั้นแรก 10 ขั้น หมายถึง ช่วงล่าง อุปบารมี 10 ขั้น หมายถึงช่วงกลาง และปรมัตถบารมี 10 ขั้น หมายถึงช่วงบน เมื่อทรงบำเพ็ญได้ทั้งหมด เรียกบารมีนี้ว่า บารมี 30 ทัศ

ส่วนเหนือรูปทรงระฆัง เป็นรูปบัวหงาย 8 กลีบ แสดงสัญลักษณ์ของมรรคมีองค์ 8 นับต่อขึ้นไปจากส่วนที่หมายถึงว่าบารมี

ส่วนบนสุดขององค์พระมหาสถูปเจดีย์ มีรูปทรงเป็นยอดปลี ซึ่งหมายถึงการตรัสรู้ สู่พระปรินิพพาน และที่ปลายยอดปลีกั้นด้วยฉัตรโลหะสีเงิน 9 ชั้น ฉลุลาย สีเงิน มียอดเป็นสีทองอันหมายถึง อุดมมงคล อันสูงสุดและเป็นร่มเกล้าที่พระมหากษัตริยาธิราช รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “นวราชบพิตร” ถวายเป็นพุทธบูชา

ส่วนพื้นฐานอันเป็นที่ตั้งขององค์พระมหาสถูปเจดีย์ได้ออกแบบให้เป็นพื้นระเบียงหรือลานรอบ ๒ ระดับ ระเบียงที่กว้างใหญ่นี้ ช่วยเสริมองค์พระมหาสถูปเจดีย์ให้มีความงามยิ่งขึ้น ทั้งสามารถที่จะใช้ประโยชน์สำหรับพุทธศาสนิกชนจะกระทำทักษิณาวัฎบูชา หรือเดินชมทัศนียภาพเบื้องล่างไกลออกไปได้โดยรอบบริเวณดอยอินทนนท์ เรียกระเบียงนี้ว่า ลานประทักษิณ ลานประทักษิณ ทั้ง 2 ชั้น จะมีซุ้มภาพปั้นนูนต่ำศิลปะเผาด่านเกวียนรอบระเบียงล่าง 7 ซุ้มและรอบระเบียงบน 6 ซุ้มซุ้มระเบียงล่างด้านนอกทุกซุ้มประดับด้วยภาพนูนต่ำตราเครื่องหมายกองทัพอากาศ คือ ปีกนก 2 ปีก อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎครอบอุณาโลม แสดงเครื่องหมายของสถาบันผู้สร้างพระมหาสถูปเจดีย์แห่งนี้

ระเบียงล่างเมื่อเริ่มต้นเวียนขวาจะเห็นภาพนูนต่ำ แต่ละซุ้มในระเบียงชั้นนี้ทางขวามือจะเป็นภาพทศชาติของพระโพธิสัตว์ 6 ซุ้ม 6 ชาติ เรียงตามลำดับดังนี้ พระเตมีย์ พระมหาชนก พระสุวรรณสาม พระเนมิราช พระมโหสถ และพระภูริทัตต ส่วนภาพในซุ้มทางซ้ายมือ 7 ซุ้ม แต่ละซุ้มตรงข้ามภาพทศชาติในชั้นนี้จะเป็นภาพธรรมชาติของป่าหิมพานต์ ประกอบด้วน ฉัททันต์ ราชสีห์ คชสีห์ หงส์ วานร ปักษร นาคาปักษิณ และมฤคานร ซึ่งเป็นสัตว์ในภพภูมิต่ำ ที่ระเบียงบน

เมื่อเริ่มต้นเวียนขวาภาพนูนต่ำดินเผาทางขวา ซึ่งติดกับผนังองค์พระมหาสถูปเจดีย์ด้านนอก จะแสดงภาพชาดก 4 พระชาติ คือ พระจันทกุมาร พระนารทะ พระวิธูรบัณฑิต และพระเวสสันดร สำหรับซุ้มตรงข้ามภาพทศชาติในระเบียงนี้หรือทางซ้ายมือเมื่อเดินเวียนขวา จะเป็นภาพธรรมชาติของป่าหิมพานต์และสัตว์ภูมิสูง ซึ่งประกอบด้วย กินรี ครุฑ นรสิงห์ นารีผล ฤาษี และหิมวันตประเทศ อีก 6 ซุ้ม

การใช้ภาพปั้นนูนต่ำดินเผาศิลปะด่านเกวียน ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะแบบ และการนำเอาภาพป่าหิมพานต์ไว้เป็นองค์ประกอบนี้ ช่วยให้พระมหาสถูปเจดีย์มีลักษณะรูปทรงสัณฐานและมีส่วนตกแต่งให้เข้ากับภูมิประเทศและสภาวะอากาศที่เป็นภูเขาสูงเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนภายในองค์พระมหาสถูปเจดีย์ เป็นห้องโถงโล่งทรง 8 เหลี่ยม เพดานสูง ตรงกลางห้องเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพร จำหลักด้วยหินแกรนิต หน้าตักกว้าง 60 นิ้ว สูง 7.3 ฟุต ตั้งอยู่บนชุกชีแบบเรียบบุหินแกรนิตสีดำมัน ผนังห้องโถงนี้ประดับด้วยภาพศิลาจำหลัก แบบนูนต่ำ 4 ภาพใหญ่ แสดงพุทธประวัติ 4 ตอนสำคัญ คือ ประสูตื ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน

สถาปนิกผู้ออกแบบคือนางไขศรี ตันศิริ และนายสันติ ชมสมบัติ สองสถาปนิกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และนายกัญจน์จักก์ สถาปนสุต วิศวกร ทั้ง 3 คนนี้ได้ร่วมงานการก่อสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ด้วยความยินดี และไม่ขอรับค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น นับตั้งแต่การเริ่มสำรวจพื้นที่ ออกแบบ คำนวณโครงสร้าง กำกับดูแลการก่อสร้างแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในการก่อสร้าง สถาปนิกและวิศวกรได้แบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน คือ งานส่วนโครงสร้างจะใช้เวลาการก่อสร้าง 285 และงานส่วนตกแต่งและประดับองค์พระมหาสถูปเจดีย์ ใช้เวลาทำงาน 240 วัน

การตกแต่ง

ส่วนยอดสุดประดิษฐานฉัตร 9 ชั้น ทำด้วยเหล็ก ไร้สนิมมีเงินฉลุลาย ผิวองค์พระมหาสถูปเจดีย์ ตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสกแก้วสีต่าง ๆ โมเสกแก้วสีทอง ประดับส่วนยอดปลี โมเสกแก้วสีน้ำตาลทอง ประดับผิวส่วนองค์รูประฆังคว่ำ และขอบซุ้ม ขอบลานประทักษิณชั้นล่าง บุโมสกแก้วสีเทา กระเบื้องโมเสกแก้วทั้งหมดสั่งซื้อจากประเทศอิตาลี มีคุณสมบัติพิเศษ ตะไคร่น้ำจับไม่ติด จะทำให้ไม่มีปัญหาในการดูแลรักษาความสะอาดในสภาวะแวดล้อมที่มีฝนตกชุก มีความเปียกชื้น แดดน้อยตลอดเวลาได้ดี พื้นลานประทักษิณทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ปูหินอ่อนสลับหินแกรนิต

พระบรมสารีริกธาตุ

ในส่วนของพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานภายในยอดปลีพระมหาสถูปเจดีย์นี้ กองทัพอากาศได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ส่วนหนึ่ง รับจากพระสังฆมหารายกะ สิริมัลวัตตะ อนันดา สยามมหานิกาย เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกาส่วนหนึ่ง และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) อีกส่วนหนึ่ง

พระพุทธอสีติวัสสาผาสุกศิรากาศ

เป็นพระพุทธรูปปางเปิดโลก หล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทอง ความสูง 80 นิ้ว กองทัพอากาศได้จัดสร้างถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสมหามงคลในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พระนามว่า “พระพุทธอสีติวัสสาผาสุกศิรากาศ” มีความหมายว่า“พระพุทธปกเกล้าปกกระหม่อม ชาวกองทัพอากาศและประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ให้ร่มเย็นเป็นสุข” โดยประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ อุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร และอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ มณฑป บริเวณพระมหาธาตุเจดีย์ ดอยอินทนนท์

พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ

ความเป็นมา

เมื่อพ.ศ. 2535 เป็นปีสิริมงคลที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิจ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ กองทัพอากาศจึงได้ก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศล และเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และได้รับพระราชทานนามว่า “พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ” มีความหมายว่า “เป็นกำลังแห่งฟ้า เป็นสิริมงคลแห่งดิน”

รูปทรงและส่วนประกอบ

พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ มีรูปทรง 12 เหลี่ยม แสดงความหมายถึงอัจฉริยธรรม 12 ประการ อันเกิดแก่พระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา มีระเบียงกว้างโดยรอบเป็น 2 ระดับ ความกว้างที่ระดับระเบียงล่าง 37 เมตร แสดงความหมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ที่ขอบระเบียงแต่ละระดับมีซุ้มรูปกลีบบัวประดับอยู่ 6 ซุ้ม องค์พระมหาธาตุมีความสูงจากชานพักชั้นล่างถึงยอดปลี 55 เมตร สำหรับรูปลักษณ์ขององค์เจดีย์ แสดงความหมายถึงโพธิปักขิยธรรมทั้ง 37 ประการ องค์เจดีย์ประดับโมเสกแก้วสีม่วงอมชมพูสีเดียวกันตลอดทั้งองค์ ที่ส่วนยอดขององค์เจดีย์เป็นยอดปลีล้อมด้วยกลีบดอกบัวตูม ประดับด้วยโมเสกแก้วสีทอง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กั้นด้วยฉัตรสีเงิน 9 ชั้น ทางด้านผนังด้านนอกขององค์พระมหาธาตุเจดีย์และซุ้มระเบียง ประดับด้วยภาพปั้นดินเผา เป็นเรื่องราวของพระภิกษุณี ผู้เป็นเอตทัคคะ 13 ท่าน, เรื่องราวของอุบาสิกา ผู้เป็นเอตทัคคะ 10 ท่าน และภาพที่แสดงสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ส่วนที่ด้านบนของซุ้มประตูทั้ง 3 ด้าน มีพระนามาภิไธยย่อ สก. ประดิษฐานไว้ ภายในเจดีย์เป็นโถงเพดานสูง มีพระพุทธรูปที่ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่บนแท่นกลางโถง เป็นพระพุทธรูปปางรำพึง ซึ่งเป็นพระประจำวันศุกร์ อันเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แกะสลักด้วยหินหยกขาว จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ขนาดความสูงเฉพาะองค์พระ 3 เมตร 20 เซนติเมตร ประทับยืนบนดอกบัว มีชายสังฆาฏิพาดอยู่บนบัลลังก์ หนักประมาณ 5 ตัน เป็นพระพุทธรูปหินหยกขาวที่มีขนาดใหญ่และงดงามที่สุดองค์หนึ่ง ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า “พระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล”

มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นสิริมงคล และทรงเจริญพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” ทางด้านผนังตอนบนโถงประดับด้วยภาพพุทธประวัติ ทำด้วยโมเสกแก้วสี ซึ่งออกแบบการจัดภาพและสีด้วยคอมพิวเตอร์ สั่งทำพิเศษจากอิตาลี เป็นภาพแสดงเรื่องราวของพระนางสิริมหามายา, พระนางมหาปชาบดีโคตมี, พระนางยโสธราพิมพา และนางวิสาขามหาอุบาสิกา ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการส่งเสริมให้พระพุทธศาสนาได้อุบัติขึ้นในโลก รวมทั้ง ได้ทะนุบำรุงให้มีการสืบทอดพระพุทธศาสนาจนทุกวันนี้ ในทางด้านผนังตอนล่างประดับด้วยภาพพระราชกรณียกิจที่สำคัญของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นภาพแบบผสมนูนต่ำและนูนสูง แกะสลักด้วยหินแกรนิตสีขาว โดยรวมแล้วรูปลักษณ์ของพระมหาธาตุเจดีย์ นั้นแสดงความหมายถึงองค์ประกอบที่ส่งเสริมให้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

การตกแต่ง ส่วนการตกแต่งแสดงถึงบทบาทของสตรีที่มีส่วนส่งเสริมและสนับสนุนให้พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นในโลก สีสันและวัสดุที่ใช้ประดับทั้งภายในและภายนอกองค์เจดีย์ มีลักษณะที่แสดงถึงความอ่อนช้อยงดงามตามลักษณะความงามของสตรีไทย

และในวันพุธที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ณ พระตำหนักภูพิงราชนิเวศน์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ในขณะนั้น) และคณะ เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนยอดปลีพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ ทรงสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ และบรรจุลงพระกรัณฑ์ทองคำด้วยพระองค์เอง

ทั้งนี้กองทัพอากาศได้อัญเชิญ “พระพุทธสิริกิติฑีฆายุมงคล” ขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริแล้ว ประกอบพิธีพุทธาภิเษกเบิกพระเนตร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2535 พร้อมกับอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนยอดปลีองค์พระมหาธาตุเจดีย์

พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ เป็นหนึ่งในพระมหาสถูปเจดีย์ซึ่งประดิษฐานอยู่บนที่สูงที่สุดในพระราชอาณาจักรไทย เคียงคู่กับ “พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล” ซึ่งกองทัพอากาศจัดสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในมหามงคลเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในปี พ.ศ.2530 ณ ยอดดอยอินทนนท์

 
 
 

Comentarios


Featured Posts
Check back soon
Once posts are published, you’ll see them here.
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
bottom of page